“ศึกอีคอมเมิร์ซ” อาเซียนเดือด Shopee-Lazada ยังมาแรงโค่นยาก

อัปเดตล่าสุด 7 มิ.ย. 2562
  • Share :

“อีคอมเมิร์ซ” ยังเป็น “ธุรกิจดาวเด่น” ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ยืนยันได้จากรายงานของ “กูเกิล” และ “เทมาเส็ก” ที่ชี้ว่า ใน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรวมกันกว่า 350 ล้านคน และอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 62% ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ “iPrice” บริษัทอีคอมเมิร์ซสัญชาติมาเลเซีย ร่วมกับ AppAnnie บริษัทวิจัยตลาดแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เปิดเผยการสำรวจข้อมูลเชิงลึกประจำไตรมาส 1 ปี 2019 โดยระบุว่า สงครามอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในประเทศสมาชิกอาเซียน กำลังร้อนระอุมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน


ขณะเดียวกัน ร้านค้าอีคอมเมิร์ซหน้าใหม่แบรนด์ท้องถิ่นก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในเวทีการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งหากใครไม่เจ๋งจริง จับลูกค้าไม่อยู่หมัด ก็อาจจะถูกแบรนด์รุ่นน้องแซงหน้าได้ การสำรวจครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใน 6 ประเทศ ซึ่งพฤติกรรมการใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ถือว่ามีบทบาทสำคัญในธุรกิจอีคอมเมิร์ซของภูมิภาคนี้ โดยการสำรวจครั้งนี้การอัปเดตความคึกคัก (traffic) ในการใช้เว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นในแต่ละประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นว่าร้านค้าอีคอมเมิร์ซรายใดที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และขาลงในภูมิภาค


บริษัท iPrice ได้ทำการจัดอันดับ “ท็อป 10” ของแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตใน 6 ชาติอาเซียน คลิกเข้ามาเยี่ยมชมมากที่สุด ในรอบไตรมาสแรกของปี 2019 ถือเป็นข้อมูลใหม่ที่มีนัยแฝงว่า ร้านค้าไหนกันแน่ที่สามารถเจาะตลาดผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนได้อยู่หมัดในแต่ละประเทศรายงานการสำรวจระบุว่า ร้านค้าอีคอมเมิร์ซ Lazada ของเครืออาลีบาบากรุ๊ป และ Shopee ของสิงคโปร์ ได้รับความนิยมมาเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ ใน 3 ประเทศจาก 6 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย อีกทั้งยังเป็นการครองแชมป์ต่อเนื่องจากการสำรวจในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2018


สำหรับ “เวียดนาม” Shopee ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งในการสำรวจครั้งนี้ ตามด้วย Tiki สตาร์ตอัพสัญชาติเวียดนาม ซึ่งนักวิเคราะห์เคยประเมินว่าบริษัทมีศักยภาพเทียบเท่าอยู่ในระดับยูนิคอร์นได้ และอันดับ 3 คือ Lazada ซึ่งครองอันดับนี้มาตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2018 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเคยอยู่อันดับที่ 1 ของเวียดนาม


ส่วน “สิงคโปร์” แบรนด์ท้องถิ่นเจ้าตลาดอย่าง “Qoo10” ยังคงครองบัลลังก์อันดับที่ 1 มาโดยตลอด แบบที่ใครก็ไม่สามารถโค่นได้ลง โดยได้แซงหน้า Amazon แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่สัญชาติอเมริกัน และครองส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซในสิงคโปร์ไปถึง 32.6% ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมาและตามด้วย Lazada และ Shopee ในอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ ซึ่งเป็นอันดับเดียวกันกับไตรมาส 2 ถึง 4 ของปี 2018 ที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน


ที่น่าสนใจคือ “อินโดนีเซีย” การสำรวจข้อมูลในครั้งนี้พบว่า แชมป์เบอร์หนึ่งยังคงเป็นของ Tokopedia บริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่สุดของแดนอิเหนา ที่ครองอันดับแพลตฟอร์มที่มีผู้เข้าชมสินค้ามากที่สุดในดินแดนแห่งนี้ทั้งยังได้รับการขนานนามว่าเป็นบริษัทระดับยูนิคอร์นอันดับ 3 ของอินโดนีเซีย (GO-JEK อันดับ 1 และ Traveloka อันดับ 2) ขณะที่แพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์สัญชาติอินโดนีเซีย ติดอันดับ 2 ในการสำรวจครั้งนี้ ได้แก่ “Bukalapak”


บริษัทระดับยูนิคอร์นอันดับ 4 ของประเทศ จากนั้นจึงเป็น Shopee ตามด้วย Lazada ที่ชาวอินโดนีเซียนิยมใช้มากที่สุด ที่น่าสนใจ คือ ในการสำรวจครั้งนี้ JD แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่อีกหนึ่งเจ้าของจีน ติดเป็นอันดับ 6 ของแพลตฟอร์มที่ชาวอิเหนานิยมใช้ในไตรมาสนี้ด้วย เมื่อเทียบกับอีก 5 ประเทศอาเซียนอื่น ๆ ที่ทำการสำรวจกลับไม่มี JD อยู่ในอันดับท็อป 10


ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กเคยประเมินเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศอาเซียนที่ขยายและเติบโตอย่างต่อเนื่อง สวนกระแสความซบเซาของตลาดโลก โดยระบุว่า มูลค่าการซื้อขายบนแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ในอาเซียน คาดการณ์ว่า จะมีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือสูงสุดถึง 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการที่ใกล้เคียงกับบทวิเคราะห์ของกูเกิล และเทมาเส็ก


นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ตลาดอีคอมเมิร์ซในอาเซียน โดย “ราคูเท็น” บริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้ระบุเมื่อปลายปี 2018 ว่า ยอดขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีสัดส่วนต่ำเฉลี่ยเพียง 3-5% ของยอดขายธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด และเมื่อเทียบกับประเทศจีน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนยอดขายอีคอมเมิร์ซสูงถึง 20% และ 10% ตามลำดับแล้ว เท่ากับธุรกิจนี้ยังเป็นโอกาสที่ดีในภูมิภาคนี้ และเชื่อว่าจะยังขยายตัวได้อีกมาก


“ตลาดอาเซียนจะขยายตัวในแง่ของมูลค่ายอดขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เทียบเท่ากับสหรัฐ หรือมากกว่า เพราะปัจจัยสำคัญก็คือ จำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะจำนวนประชากรของอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่มาก เป็นอันดับ 4 ของโลกด้วย” นักวิเคราะห์การตลาดเอเชีย ราคูเท็น กล่าวทิ้งท้าย


สงครามธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียน น่าจะดุเดือดและรุนแรงขึ้น เพราะแม้ว่าในตอนนี้ แบรนด์เจ้าตลาดอย่าง Lazada และ Shopee ยังได้รับความนิยมในหลายประเทศ แต่แบรนด์ท้องถิ่นก็เตรียมพร้อมที่จะแย่งตำแหน่งในทุกขณะด้วยเช่นกัน